แผนรับมือภัยพิบัติที่ทำด้วยตัวเอง

เครือข่ายไม่เป็นทางการต่อสู้อุทกภัยที่รุนแรงที่สุดของกรุงเทพฯ อย่างไร

Story by Dustin Roasa

Photography by Giorgio Taraschi

Published on

This is your first of three free stories this month. Become a free or sustaining member to read unlimited articles, webinars and ebooks.

Become A Member

เมื่อระดับน้ำเริ่มสูงขึ้นในเดือนตุลาคม 2554 พื้นเริ่มแยกและส่งเสียงดังเปรี้ยะๆ ขณะที่แตกออกเป็นเสี่ยงๆ ก้อนอิฐแตก กระเบื้องปูพื้นร้าว และน้ำก็เอ่อขึ้นมาอย่างรวดเร็วผ่านรอยแยกนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ผู้คนจำนวน 150 ครอบครัวที่อาศัยอยู่ที่นี่ไม่ทันได้ตั้งตัว ที่หมู่บ้านกิตติยารักษ์ในตำบลไทรน้อย ชานเมืองทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯ สามเดือนต่อมาเมื่อน้ำลด ได้มีการบันทึกว่าอุทกภัยครั้งนี้เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของไทย

“ไม่มีใครคาดคิดว่าน้ำท่วมครั้งนี้จะรุนแรงขนาดนี้” ฟองพล คอนพฤกษ์ อดีตชาวไร่วัย 52 ปีจากภาคเหนือของไทย ซึ่งย้ายมาที่ไทรน้อยนี้เมื่อ 16 ก่อนกล่าว “เราเป็นที่แรกที่น้ำท่วมและที่สุดท้ายที่น้ำลด” ฟองพลรำลึกถึงความอลเวงปั่นป่วนในช่วงวันแรกๆ ที่น้ำท่วม “น้ำมาจากทุกที่ บางครั้งก็มาช้าๆ แต่บางครั้งก็มาเร็ว ผมไม่รู้ว่าจะอธิบายยังไงดี” น้ำขึ้นทุกวัน วันละ 20-30 ซม. จนสูงหนึ่งเมตรครึ่ง อุทกธารที่เต็มไปด้วยเศษซากต่างๆ ทำให้ถนนหนทาง ทางเท้า ลานจอดรถ และชั้นล่างของอาคารทุกแห่งในบริเวณนั้นจมอยู่ใต้น้ำเลยทีเดียว

สิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปแสดงให้เห็นเป็นอย่างดีถึงพลังแห่งเครือข่ายสังคมและระบบที่ไม่เป็นทางการในยามที่เกิดวิกฤตขึ้นในเมือง ราษฎรที่นี่และผู้คนอีกหลายแสนคนในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ถูกน้ำท่วม ซึ่งถูกทอดทิ้งและแทบจะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากทางการเลย ต่างก็ลุกขึ้นมาดำเนินการทันที โดยจัดตั้งเครือข่ายที่ไม่เป็นทางการขึ้น และปรับเปลี่ยนจุดมุ่งหมายของเครือข่ายที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน เพื่อทำภารกิจที่สำคัญซึ่งปกติแล้วในยามฉุกเฉินเช่นนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาล คนที่ไม่เคยได้รับการอบรมมาก่อนและมีทรัพยากรเพียงน้อยนิดต่างก็ช่วยกันสร้างคันกั้นน้ำและคอยเฝ้าดูระดับน้ำ นำอาหารและน้ำไปมอบให้แก่ผู้ประสบอุทกภัย อพยพย้ายคนที่ติดอยู่ในบ้าน ให้การรักษาคนที่เจ็บป่วยและบาดเจ็บ และคอยตรวจตราชุมชนที่อยู่อาศัยของตัวเองเพื่อป้องกันขโมยขโจร เมื่อน้ำลด เครือข่ายเหล่านี้ก็เปลี่ยนภารกิจและหันไปเริ่มทำความสะอาดและฟื้นฟูพื้นที่ในท้องที่ เพื่อให้จังหวัดของตัวเองกลับสู่สภาพเดิม

ขณะที่เมืองต่างๆ รอบโลกต่างก็หาทางต่อสู้กับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และพายุที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลก็กำลังตอบสนองด้วยวิธีหลายอย่างในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน นับแต่เกิดเฮอริเคนแซนดี้ขึ้น นิวยอร์กได้ออกกฎข้อบังคับให้อาคารสร้างใหม่และอาคารที่บูรณะใหม่ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วม ต้องยกระดับให้สูงขึ้นจากที่เคยกำหนดไว้แต่เดิม นิวยอร์กยังกำลังยกระดับความสูงของทางเดินเข้าสู่สถานีรถไฟใต้ดิน และของตะแกรงระบายอากาศให้สูงขึ้นจากพื้นดิน ซานฟรานซิสโกกำลังออกแบบระบบบำบัดน้ำและน้ำเสียด้วยงบประมาณ 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อไม่ให้น้ำจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นไหลเข้ามาในท่อในระหว่างเกิดคลื่นพายุหมุนยกซัดฝั่ง ประเทศเนเธอร์แลนด์ซึ่งพื้นที่เกือบร้อยละ 60 เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วม กำลังคิดหาระบบป้องกันชายฝั่งทั้งหมดของประเทศ ซึ่งเป็นระบบหนึ่งที่มีความละเอียดและซับซ้อนที่สุดในโลก โดยการจัดสรรงบประมาณอย่างน้อยหนึ่งพันล้านยูโรในแต่ละปี เพื่อขยายความยาวของคันกั้นคลื่นพายุหมุนยกซัดฝั่ง ย้ายธารน้ำขึ้นน้ำลง บำรุงรักษาชายหาดต่างๆ และเพิ่มความสูงของกำแพงกั้นน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมให้ดีกว่าเดิม “สิบเท่า” แต่ทุกๆ อภิมหาโครงการเช่นโครงการเหล่านี้ ก็ยังมีโครงการเล็กๆ ที่มุ่งเป้าไปยังพื้นที่ที่เล็กกว่า เช่น ที่เมืองก๋วงนัง เมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งที่กำลังโตในประเทศเวียดนาม กำลังใช้เงิน 16.5 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูป่าโกงกางจำนวน 900 กว่าไร่ เพื่อช่วยป้องกันราษฎร 14,000 ครัวเรือนที่อาศัยตามชายฝั่งทะเลจากลมมรสุมที่มีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

แต่เป็นที่ตระหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าการต่อสู้กับภัยพิบัติด้วยโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้เพียงอย่างเดียวเท่ากับเป็นการละเลยปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่อาจมีความสำคัญพอๆ กัน นั่นคือ โครงสร้างพื้นฐาน ทางสังคม ของเมือง การวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ชี้ให้เห็นว่าเครือข่ายไม่เป็นทางการมีความสำคัญอย่างยิ่งในการจัดการกับภัยพิบัติ และว่าพื้นที่ที่มีความ เหนียวแน่นทางสังคมจะผ่านพ้นภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ดีกว่าพื้นที่ที่เครือข่ายที่ว่านั้นอ่อนแอ

เด็กคนหนึ่งกำลังนั่งรอใต้ร่ม ขณะที่คนงานกำลังเก็บเกี่ยวข้าวอยู่ใกล้ๆ ในตำบลไทรน้อย ทุ่งนาเหล่านี้ถูกน้ำท่วมเมื่อปี 2554

กรุงเทพฯ ไม่ได้เป็นเพียงแห่งเดียวที่ตระหนักถึงความจริงข้อนี้ Empowered Communities Program ของเมืองซานฟรานซิสโกกำลังร่วมมือกับชุมชนต่างๆ ในท้องถิ่นเพื่อเพิ่มความสามารถในการปรับตัวและฟื้นตัวหลังเผชิญภาวะวิกฤต โปรแกรมนี้ให้การสนับสนุนชุมชนต่างๆ เพื่อจัดทำแผนดำเนินการขึ้น และสร้างทุนทางสังคมให้สูงขึ้นในหมู่บุคคลสำคัญที่มีส่วนได้ส่วนเสีย อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในยามวิกฤต กลุ่มต่างๆ ที่เข้าร่วมในโปรแกรมนี้ ได้แก่ Neighborhood Emergency Response Teams (NERTs) และสมาคมพ่อค้าต่างๆ ซานฟรานซิสโกถึงกับสร้างเกมบทบาทสมมติที่ชื่อว่า Resilientville ขึ้นมา ซึ่งช่วยชุมชนต่างๆ ในการทดสอบและปรับขีดความสามารถของชุมชนในการตอบสนองอย่างไม่เป็นทางการยามเกิดภาวะฉุกเฉิน

หนึ่งในความพยายามที่ครบวงจรที่สุดซึ่งปัจจุบันกำลังเริ่มดำเนินการอยู่ เกิดขึ้นในเมืองเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ โดยหน่วยที่ใหญ่ที่สุดของสำนักงานบริหารจัดการภาวะฉุกเฉินของเมืองนั้นคือ Community Resilience Team (CRT) คณะทำงานนี้มีหน้าที่เฉพาะในการจัดหาอุปกรณ์และทำให้เครือข่ายไม่เป็นทางการต่างๆ สามารถตอบสนองได้ยามเกิดภัยพิบัติ และทำการฝึกอบรมอาสาสมัคร “Community-Driven Emergency Management (CDEM)” เกี่ยวกับวิธีการส่งเสริมให้เกิดการเตรียมพร้อมในหมู่เครือข่ายของตนเอง ตลอดจนในการตอบสนองในฐานะชุมชนหนึ่ง หรือเสริมการตอบสนองอย่างเป็นทางการของรัฐบาล แผนการตอบสนองของชุมชนได้รับการอำนวยความสะดวกโดย CRT นี้ เพื่อชี้แนะการวางแผนในระดับท้องถิ่น ประสานงานกิจกรรมต่างๆ และบริหารจัดการทรัพยากรต่างๆ เช่น อาหารและเชื้อเพลิง “เป้าหมายหลักของเราคือ การให้คนธรรมดาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย” แดน นีลีย์ ที่ปรึกษาอาวุโสสำหรับการเตรียมความพร้อมยามฉุกเฉินที่สำนักงานจัดการภาวะฉุกเฉินเมืองเวลลิงตัน กล่าว “คนที่ดำรงชีวิตในแต่ละวันของตัวเองได้ จะสามารถตอบสนองได้ในยามเกิดเหตุ เรากำลังพยายามเข้าให้ถึงคนเหล่านี้ในตอนนี้… เพื่อที่ว่าเมื่อเกิดเหตุใหญ่ขึ้น คนธรรมดาจะสามารถเข้าถึงแผนตอบสนองที่กว้างขึ้นของชุมชนได้”

เวลลิงตันได้ส่งอาสาสมัคร CDEM บางส่วนของเมืองไปยังเมืองไครสต์เชิร์ช เมื่อเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขึ้นในเมืองนั้นในปี 2554 แต่แดนย้ำว่าคุณจะส่งการตอบสนองอย่างไม่เป็นทางการเข้าไปเพียงอย่างเดียวไม่ได้ “สิ่งที่ต้องทำด้วยก็คือ การสร้างทุนทางสังคม” เขากล่าว “เรากำลังพยายามเพิ่มความเกี่ยวโยง ชุมชนที่แข็งแกร่งจะเกิดผลที่ดีกว่าในระหว่างการตอบสนอง”

จะเห็นได้จากเมืองชิคาโก ที่ซึ่งเครือข่ายไม่เป็นทางการมีบทบาทสำคัญต่ออัตราการรอดชีวิตของคน เมื่อคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นเป็นระยะเวลาห้าวันในปี 2538 คร่าชีวิตคนไปเป็นจำนวนถึง 733 คน ดังที่เอริก ไคลเนนเบิร์ก รายงานในนิตยสารรายสัปดาห์ที่ชื่อ The New Yorker ย่านที่มีผู้เสียชีวิตน้อยที่สุดในช่วงที่เกิดคลื่นความร้อนนั้นไม่ใช่ย่านที่อยู่อาศัยของคนรวยเสมอไป แต่เป็นย่านที่มีความเชื่อมโยงทางสังคมที่เข้มแข็งเป็นพิเศษ หนังสือของเขาชื่อ Heat Wave บันทึกอัตราที่สูงจนน่าประหลาดใจของการรอดชีวิตในย่าน “ลิตเติล วิลเลจ” ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชนชั้นแรงงาน “สภาพแวดล้อมทางสังคมของย่านนี้ไม่ได้ปกป้องแต่คนที่มีเชื้อสายละตินเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงคนสูงอายุผิวขาวต่างวัฒนธรรมและต่างภาษา ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตจากคลื่นความร้อนนี้ด้วยเช่นกัน” เขาชี้ให้เห็นถึง “การติดต่อทางสังคม ความใกล้ชิดของคนในชุมชน และการมีส่วนร่วมของสังคม” ว่าเป็นปัจจัยที่ “ส่งเสริมความแน่นแฟ้นของเครือข่ายทางสังคมในหมู่ครอบครัวและเพื่อนบ้าน” เมื่อเกิดวิกฤตขึ้น การตอบสนองของเครือข่ายเหล่านี้เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติเลยทีเดียว

เครือข่ายไม่เป็นทางการเหล่านั้นเป็นสายป่านช่วยชีวิตที่สำคัญยิ่งสำหรับคนจำนวนมากในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2554 และขณะที่พายุมีความรุนแรงยิ่งขึ้นและระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เครือข่ายเหล่านี้จะยิ่งมีความสำคัญขึ้นไปอีก เมืองต่างๆ ในทุกหนทุกแห่งกำลังตระหนักถึงความสำคัญของเครือข่ายเหล่านี้ แต่ในหลายแง่มุมแล้ว กรุงเทพฯ เริ่มต้นก่อน โดยเป็นที่ที่ความง่ายๆ สบายๆ ซึมซาบเข้าไปในหลายแง่มุมของชีวิตในแต่ละวัน “รัฐบาลไร้ประสิทธิภาพและทุจริต” วิศิษฐ์ หิรัญกิตติ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมในสถาบันแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ผู้ที่พยายามหาวิธีปรับปรุงการตอบสนองภัยพิบัติอย่างไม่เป็นทางการของเมือง กล่าว ถึงแม้ว่ากรุงเทพฯ จะขาดรัฐบาลที่มีความสามารถ แต่พลังมวลชนอันแข็งแกร่งก็ชดเชยสิ่งที่ขาดไปได้

หากจะให้ดีที่สุดแล้ว การทำงานร่วมกันของรัฐบาลที่มีความสามารถและเครือข่ายไม่เป็นทางการที่เข้มแข็ง จะเป็นป้อมปราการที่บรรดาเมืองต่างๆ จำเป็นในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นนี้ สิ่งที่จำเป็นไม่ใช่แค่ความเหนียวแน่นทางสังคมเท่านั้น แต่ยังคือความเต็มใจในส่วนของภาครัฐบาลที่จะช่วยเตรียมชุมชนให้พร้อมในการพึ่งพาตนเองและในการพัฒนาแผนภัยพิบัติที่ให้ประชาชนเป็นผู้นำการตอบสนองเอง มีสัญญาณบ่งชี้ให้เห็นว่าสิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ตั้งแต่นิวยอร์กไปจนถึงกรุงเทพฯ เหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านมาทำให้เมืองต่างๆ ต้องยอมปล่อยให้เครือข่ายไม่เป็นทางการตอบสนองต่อภัยพิบัติอย่างค่อนข้างเป็นอิสระ การที่เมืองต่างๆ จะยอมรับแม่แบบที่ซึ่งพลเมืองธรรมดาและหน่วยงานรัฐบาลร่วมกันทำงานหรือไม่นั้น อาจเป็นสิ่งกำหนดถึงความสามารถในการปรับตัวและฟื้นตัวของเมืองเหล่านั้น เมื่อยามที่ภัยพิบัติมาถึง

การรักษาไทรน้อยเอาไว้

ในกรุงเทพฯ เครือข่ายไม่เป็นทางการไม่ใช่แค่แข็งแกร่งเท่านั้น แต่ยังปรากฏอยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่ง เครือข่ายเหล่านี้มีรากฐานในสังคมชนบท และผสมผสานกลมกลืนอย่างแยกกันไม่ออกกับสายใยทางสังคม แม้ในพื้นที่ในเมืองก็ตาม กรุงเทพมหานครได้เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยมีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นสองเท่านับตั้งแต่ปี 2523 การเติบโตนี้ส่วนใหญ่เนื่องมาจากคนชนบทที่อพยพเข้ามาหางานทำในเมืองหลวง ทั้งๆ ที่ประชากรมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือบางทีอาจเป็นเพราะปัจจัยนี้ก็เป็นได้ คนในกรุงเทพมหานครก็ยังคงความผูกพันทางสังคมที่แน่นแฟ้นเอาไว้ได้ เครือข่ายไม่เป็นทางการที่แข็งแกร่งเหล่านั้นยังเป็นผลมาจากการที่ประชาชนไม่คาดหวังอะไรจากรัฐบาลของตัวเอง นอกเหนือจากสองสถาบันอันเป็นที่เทิดทูนหรือเคารพอย่างสูง นั่นคือ สถาบันกษัตริย์และทหาร

เครือข่ายเหล่านี้มีความสำคัญมากขึ้นในช่วงปลายปี 2554 หลังจากที่พายุโซนร้อน “นกเตน” พัดจากเวียดนามเข้าสู่ไทยในเดือนกรกฎาคม ในช่วงหลายสัปดาห์ ฝนจากพายุลูกนั้นประกอบกับลมมรสุมตามฤดูกาลที่หนัก ทำให้เขื่อนรับน้ำไม่ไหว พระบรมมหาราชวังถูกน้ำท่วม และท่าอากาศยานดอนเมืองต้องปิดลงหลังจากที่น้ำท่วมรันเวย์ บรรดาผู้คนต่างก็ตื่นตระหนก ขณะที่รัฐบาลประกาศวันหยุดฉุกเฉินเป็นเวลาห้าวัน เมื่อทุกอย่างจบสิ้นลง มีผู้เสียชีวิตจำนวน 815 ราย คน 14 ล้านได้รับผลกระทบ และมูลค่าความเสียหายหลังมหาอุทกภัยครั้งนั้นอยู่ที่ 1.35 ล้านล้านบาท นับเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่สร้างความเสียหายมากที่สุดเป็นอันดับสี่เท่าที่เคยมีมา

วิเชน ผู้ใหญ่บ้านในตำบลไทรน้อย เขาและคณะกรรมการของราษฎรท้องถิ่นคิดหาแผนการขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เมื่อเห็นชัดว่ามวลน้ำจะมาถึงชุมชนของเขา

แต่ในช่วงไม่กี่วันก่อนที่น้ำจะมาถึง ข่าวที่ทางการประกาศออกมาฟังดูดีชอบกล รัฐบาลขอให้ราษฎรในกรุงเทพฯ อย่าตกอกตกใจ โดยยืนยันว่าจะไม่มีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แม้กระทั่งวันที่ 13 ตุลาคม หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ได้อ้างอิงคำพูดของ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่ากทม. ที่พูดว่า “ขณะนี้ทุกอย่างอยู่ในความควบคุมของเรา ถ้าเราควบคุมไม่ได้ เราจะประกาศให้ประชาชนทราบทันที” และแม้กระทั่งเมื่อบรรดาสื่อข่าวต่างก็รายงานถึงมวลน้ำขนาดใหญ่ผนวกกับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมามาก ซึ่งทำให้น้ำมีมวลมากขึ้นอย่างน่ากลัวในทางตอนเหนือของประเทศ รัฐบาลก็ยังให้ความมั่นใจแก่คนกรุงเทพฯ ว่ามวลน้ำนั้นจะมาไม่ถึงกรุงเทพฯ อย่างแน่นอน

ทว่าในไม่ช้า ภาพความหายนะที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็เผยแพร่ออกสู่สายตาของคนทั้งโลก แต่ตำบลไทรน้อยแทบจะไม่ได้รับความสนใจจากใครเลย ทั้งสื่อและที่แน่ๆ คือรัฐบาล ซึ่งเห็นได้ชัดว่ารับมือไม่ไหว ไม่ได้เตรียมตัว และขาดความสามารถในการเผชิญกับเหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุด เมื่อถึงปลายเดือนตุลาคม 2554 หมู่บ้านในตำบลไทรน้อยก็ถูกทอดทิ้งอย่างโดดเดี่ยวและอยู่ในสภาพที่แย่มาก

ปีกว่านิดๆ หลังจากที่อุทกภัยครั้งนั้นสิ้นสุดลง เช้าวันหนึ่งผมได้นั่งแท็กซี่จากย่านใจกลางของกรุงเทพฯ อันเป็นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าชั้นนำและอาคารสูงระฟ้า ไปยังตำบลไทรน้อย ซึ่งใช้เวลาเดินทาง 45 นาที ผมอยากคุยกับคนที่อาศัยอยู่ที่นั่นว่าพวกเขาจัดการกับอุทกภัยครั้งนั้นอย่างไร และจะตอบสนองอย่างไรต่ออุทกภัยครั้งใหญ่ซึ่งแทบทุกคนคาดว่าจะเกิดขึ้นอีกในไม่ช้า

ตำบลไทรน้อยเป็นที่ที่กรุงเทพฯ ใหม่บรรจบกับที่ที่ยังมีขนบธรรมเนียมแบบชนบทและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ล้าหลังของประเทศไทยสมัยเก่า ที่แห่งนี้ให้ความรู้สึกว่าไม่ใช่ทั้งเมืองหรือชนบท แต่เป็นการผสมผเสกันของทั้งเมืองและชนบท มีนาข้าวและถนนคดเคี้ยวเข้าหมู่บ้านติดกับห้างสรรพสินค้าเล็กๆ และบ้านราคาหลังละหลายล้านของผู้คนที่เดินทางไปทำงานในกรุงเทพฯ พื้นที่ลักษณะนี้ทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ นี่แหละที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากอุทกภัยครั้งนั้น แต่ก็เป็นที่ที่เครือข่ายประชาชนมีความแข็งแกร่งที่สุด เหตุผลบางส่วนเป็นเพราะลักษณะที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ แต่อีกเหตุผลหนึ่งเป็นเพราะทางการตัดสินใจที่จะเสียสละพื้นที่บริเวณเหล่านี้ โดยปล่อยน้ำเข้าสู่พื้นที่ชานเมืองเพื่อที่จะยับยั้งไม่ให้น้ำไหลเข้าไปในใจกลางกรุงเทพฯ

แต่น่าแปลกที่คนที่นั่นไม่รู้สึกโกรธที่ทางการทำอย่างนั้น ทัศนคติของพวกเขาออกจะเป็นไปในลักษณะที่ยอมรับอย่างปลงๆ เสียมากกว่า “จริงอยู่ที่ทางการเสียสละพื้นที่ของเรา แต่ก็ไม่แย่อย่างพื้นที่อื่น” วิเชนทร์ คงสรรพ ชายวัย 75 ผู้มีความสุภาพอ่อนโยน หุ่นกำลังดี และกระตือรือร้น ซึ่งทำให้เขาดูอ่อนกว่าวัย 20 ปี กล่าว “ยังไงก็ตาม คุณจะทำอะไรได้ล่ะ เราต้องยอมรับสภาพ”

วิเชนทร์เป็นศูนย์กลางของเครือข่ายไม่เป็นทางการในการบรรเทาอุทกภัยของตำบลไทรน้อย ในฐานะ ผู้ใหญ่บ้าน ตำแหน่งที่ปรึกษากึ่งทางการที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งเกือบทุกชุมชนขนาดประมาณนี้ในประเทศไทยมี เขาเป็นผู้นำราษฎรในหมู่บ้าน เมื่อเห็นได้ชัดว่ามวลน้ำจะมาถึงพื้นที่บริเวณนั้น วิเชนทร์เรียกประชุมคณะกรรมการราษฎรของหมู่บ้านทันที ซึ่งประกอบด้วยผู้สูงวัยจำนวน 15 คนที่ไม่มีตำแหน่งทางการ เพื่อจัดทำแผนดำเนินการสำหรับตอบสนองต่ออุทกภัยในชุมชน

คณะกรรมการทุกคนร่วมกันตัดสินใจว่าจะใช้สองสิ่งที่รัฐบาลได้จัดหาให้ นั่นคือ กระสอบทรายและปั๊มน้ำขนาดใหญ่หนึ่งเครื่อง ให้ดีที่สุดอย่างไร “การประชุมครั้งนั้นเป็นไปอย่างไม่เป็นทางการมาก” วิเชนทร์กล่าว พวกเขาจัดให้ราษฎรช่วยกันทำงาน โดยผู้ชายมีหน้าที่ตักทรายและผู้หญิงมีหน้าที่ขนกระสอบทราย นอกจากนี้ยังมีการรวบรวมเงินจากราษฎรในชุมชนเพื่อนำไปซื้อปั๊มน้ำเครื่องที่สอง ความหวังอย่างน้อยที่สุดในระยะแรกนี้คือ ป้องกันไม่ให้น้ำเข้ามายังหมู่บ้าน ทว่าเมื่อมวลน้ำมาถึง วิธีการป้องกันของพวกเขากลับไม่ได้ผล “เราทำดีที่สุดแล้ว” วิเชนทร์กล่าว “มันเพียงแต่ไม่ได้ผลเท่านั้น”

ในฐานะผู้นำคนหนึ่งของเครือข่ายการตอบสนองอย่างไม่เป็นทางการของหมู่บ้านของเขา กฤษฎา โรจชรัชต์ เป็นหนึ่งในหกคนที่อยู่โยงเฝ้าหมู่บ้านในช่วงที่เกิดน้ำท่วม

แต่ความพ่ายแพ้ครั้งแรกก็ไม่ได้ทำให้ชุมชนนี้ท้อถอย ชุมชนนี้เดินหน้าต่อไปขณะที่สถานการณ์แย่ลง วิเชนทร์และคณะกรรมการราษฎรใช้ลำโพงเสียงดังที่ติดอยู่บนเสาไฟฟ้าต้นหนึ่ง เพื่อประกาศจัดตั้งเครือข่ายสำหรับแจกจ่ายอาหารและน้ำดื่มที่หลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่นี้ด้วยน้ำใจจากเครือข่ายอาสาสมัครทั่วกรุงเทพฯ ที่จัดต้งขึ้นโดยสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 จากนั้น เมื่อระดับน้ำสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว พวกเขาก็ดำเนินการอพยพย้ายราษฎรออกจากพื้นที่อย่างเป็นระเบียบ และเลือกอาสาสมัครหกคนให้อยู่โยงเฝ้าพื้นที่นั้น เพื่อคอยเฝ้าดูสถานการณ์และตรวจตราพื้นที่นั้นเพื่อป้องกันขโมยขโจร อาสาสมัครทั้งหกนี้คอยติดต่อทางโทรศัพท์มือถือกับเจ้าหน้าที่ที่สำนักงานตำบลตลอดช่วงเวลานั้น เพื่อให้ข้อมูลล่าสุด และติดต่อกับทหารซึ่งนำความช่วยเหลือเป็นระยะๆ มายังตำบลไทรน้อย

กฤษฎา โรจชรัชต์ หัวหน้าคนงานก่อสร้างที่ชอบใส่เสื้อเชิ้ตคอกลมตัดแขนจนสั้นกุด และถือโทรศัพท์มือถือเครื่องหนึ่งที่มีสายเข้าตลอดเวลา เป็นหนึ่งในอาสาสมัครหกคนที่อยู่เฝ้าพื้นที่นั้น เขาย้ายขึ้นไปอยู่บนชั้นสองบนบ้านของเขา (ชั้นล่างถูกน้ำท่วม) และคอยเฝ้าบ้านของเพื่อนบ้านที่อพยพออกไปซึ่งโทรศัพท์เข้ามาเช็คกับเขาอยู่เรื่อยๆ กฤษฎาพกปืนติดตัวไว้เผื่อว่าต้องเผชิญหน้ากับขโมย “ไม่มีตำรวจอยู่แถวนั้น ผมมีหน้าที่คุ้มครองบ้านแถวนั้น” เขากล่าว ผมถามว่าเขาพร้อมที่จะใช้ปืนกระบอกนั้นหรือไม่ “พร้อมครับ ผมพร้อมที่จะจัดการอย่างเด็ดขาดกับพวกหัวขโมย” เขาหัวเราะหึๆ กฤษฎาคอยจดชื่อคนที่อยู่ในชุมชนนั้นไว้ตลอดเวลา และถ่ายทอดข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่เขาเห็นให้แก่สำนักงานตำบล ในช่วงนี้ เขาและอาสาสมัครอีกห้าคนเป็นผู้มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียวที่คอยดูแลพื้นที่ไทรน้อย

เมื่อถึงสิ้นเดือนธันวาคม น้ำก็ลดลงในพื้นที่นั้น ราษฎรกลับมายังบ้านของตัวเองและหันไปสนใจเรื่องการฟื้นฟูแทน ผู้ที่มีหน้าที่เก็บกวาดหลังน้ำลดประกอบด้วยครัวเรือนห้าหลังคาเรือน แต่ละคนจะเก็บเศษขยะจากพื้นที่สาธารณะ และฟื้นฟูบ้านเรือนของตัวเองให้กลับสู่สภาพเดิม จากนั้น สมาชิกในหมู่บ้านก็จะจัดการกับงานใหญ่ๆ เช่น การซ่อมแซมบ้านของตัวเอง โดยใช้ระบบแลกเปลี่ยนสิ่งของและแรงงาน เพราะขาดแคลนเงินเนื่องจากน้ำท่วมทำให้ธุรกิจหยุดชะงัก หมู่บ้านเหล่านั้นฟื้นฟูขึ้นมาภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ ในช่วงสามเดือนนับแต่ที่มวลน้ำมาถึงพื้นที่นั้น ไม่มีคนตายหรือบาดเจ็บสาหัสเลยสักคนเดียวในชุมชนนี้ แปลกมากที่ความสงบเรียบร้อยและชีวิตของคนในพื้นที่นั้นกลับคืนเกือบสู่สภาพเดิมที่เคยเป็นอย่างรวดเร็ว ด้วยความช่วยเหลือเพียงเล็กน้อยจากรัฐบาล ชุมชนนี้รอดพ้นจากภัยพิบัติที่รุนแรงที่สุดที่ประเทศไทยเคยประสบมา และกลายเป็นชุมชนที่เข้มแข็งขึ้นเพราะภัยพิบัตินั้น

เมื่อเกือบจบการสนทนาอันยาวนานกับวิเชนทร์และกฤษฎา คราบสีดำที่บ่งบอกถึงความสูงของระดับน้ำที่ท่วมยังเห็นได้ชัดอยู่เหนือศีรษะของเราบนกำแพงใกล้ๆ การพูดคุยของเราเปลี่ยนไปที่เรื่องเมืองอื่นๆ ทั่วโลกที่ถูกภัยพิบัติทางธรรมชาติเล่นงานในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผมเอ่ยถึงพายุเฮอริคนแซนดี้และคาทรินา และความโกรธเคืองที่ราษฎรในเมืองนิวออลีนส์และนิวยอร์กรู้สึกต่อรัฐบาลของตัวเองหลังเกิดภัยพิบัติเหล่านั้นขึ้น ผมถามคนทั้งสองว่าพวกเขารู้สึกอย่างเดียวกันนั้นหรือไม่ “ไม่” วิเชนทร์ตอบโดยไม่ลังเล “รัฐบาลมีงานล้นมืออยู่แล้วในการจัดการกับน้ำที่ไหลลงมาจากทางตอนเหนือ เป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลจะมาดูแลคนทุกคนได้”

ชาวบ้านคนหนึ่งกำลังดูแลไร่ในตำบลไทรน้อย

ความร่วมมือกันของราษฎรในตำบลไทรน้อยเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ เหตุผลส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนในพื้นที่นี้มีบางอย่างที่เหมือนกัน นั่นคือเป็นผู้อพยพมาจากชนบททางตอนเหนือของประเทศไทย ในภูมิภาคเหล่านี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขตอีสานที่ยากจนในทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ น้ำท่วมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติ และผู้คนก็รู้วิธีที่จะจัดการกับมัน ราษฎรตำบลไทรน้อยนำความรู้นั้นติดตัวมาที่กรุงเทพฯ ด้วย “ผมมีประสบการณ์กับน้ำท่วมครั้งแรกตอนผมอายุได้สี่ขวบ” วิเชนทร์กล่าว “คนในชนบทเตรียมตัวพร้อมกว่า เรามีเรือและสร้างบ้านที่ยกพื้นสูง”

แต่มีเหตุผลอื่นนอกจากนั้นด้วย แม้ว่าคนเหล่านี้จะไม่ได้มาจากจังหวัดเดียวกันและไม่ได้รู้จักกันมาก่อนที่จะย้ายเข้ามากรุงเทพฯ แต่ราษฎรที่นี่ต่างก็มีความอ่อนไหวทางวัฒนธรรม เมื่อพบว่าตัวเองอยู่ในสภาพแวดล้อมในเมืองที่ไม่คุ้นเคย ก็ทำให้พวกเขามารวมตัวกันเป็นชุมชน “เป็นเรื่องปกติสำหรับพวกเราที่มาร่วมมือกันอย่างนี้ มันเป็นสัญชาตญาณ” กฤษฎากล่าว โดยสะท้อนถึงความรู้สึกที่ผมได้ยินจากคนไทยหลายคนที่มีส่วนร่วมในเครือข่ายบรรเทาสาธารณภัยต่างๆ รวมทั้งคนที่ใช้ชีวิตทั้งชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ ขณะนี้เครือข่ายบรรเทาอุทกภัยของตำบลไทรน้อยไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ แต่เมื่อภัยพิบัติหน้ามาถึง เครือข่ายนั้นจะกลับขึ้นมาอย่างรวดเร็ว “ครั้งหน้า” วิเชนทร์กล่าว “เราจะพร้อมรับมือเต็มที่”

ครั้งหน้าอาจมาถึงเร็วกว่าครั้งที่แล้วก็เป็นได้ นักวิจัยที่ MIT และมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันพบว่า มหาพายุประเภทที่เคยทำให้เกิดดินถล่มทุกร้อยปี ขณะนี้อาจเกิดขึ้นทุกสามถึงยี่สิบปีก็เป็นได้ และสิ่งที่เรียกว่า “น้ำท่วมคาบ 500 ปี” อาจเกิดขึ้นบ่อยทุก 25 ปีก็เป็นได้ ตามข้อมูลที่ตีพิมพ์ใน Nature Climate Change “ความแปรปรวนของเหตุการณ์ใหญ่ๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ได้กลายเป็นที่สนใจของคน ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ หรือญี่ปุ่น หรือเฮอริเคนแซนดี้” โรเบิร์ต เจ. แซมป์สัน อาจารย์ภาควิชาสังคมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดกล่าว “สิ่งเหล่านี้ทำให้เราต้องคิดใหม่ถึงวิธีการเตรียมรับมือกับภัยพิบัติ” งานของแซมป์สันเกี่ยวข้องกับวิธีการวางแผนสำหรับภัยพิบัติที่เรียกว่า อีโคเมทริกซ์ “การวัดอุณหภูมิของชุมชนต่างๆ เพื่อให้รู้ว่าชุมชนใดที่มีความเสี่ยง นี่ทำให้เราสามารถค้นหาช่องโหว่ของการป้องกันตัวทางสังคม ไม่ใช่แค่กำแพงกันคลื่นเท่านั้น” เขากล่าว เช่นเดียวกับแนวคิดเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมและการเตรียมรับมือภัยพิบัติ นี่เป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ แต่แซมป์สันเห็นว่ามันกำลังเป็นที่แพร่หลายอย่างรวดเร็ว “ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางเกิดขึ้น” เขากล่าว “เรื่องนี้กำลังอยู่ในความสนใจ”

พลังแห่งความคาดหวังที่ต่ำ

เหตุผลบางส่วนที่ดูเหมือนว่าเมืองต่างๆ เช่น กรุงเทพฯ และเวลลิงตัน จะเข้าใจบทบาทของเครือข่ายสังคมที่ไม่เป็นทางการเร็วกว่า เป็นเพราะเหตุผลง่ายๆ นั่นคือ เพราะความจำเป็น “ชาวนิวซีแลนด์เป็นคนที่ชอบต่อสู้” แดน นีลีย์ จากสำนักงานจัดการภาวะฉุกเฉินเมืองเวลลิงตัน กล่าว “เราไม่มีทรัพยากรมากเท่าสหรัฐฯ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องพึ่งพาชุมชนของเราในระดับหนึ่ง”

วิเชนทร์รู้สึกเช่นเดียวกัน “ถ้าคุณคาดหวังให้รัฐบาลช่วยคุณตลอดเวลา คุณจะต้องจ่ายภาษีมากขึ้น และคนไทยไม่เต็มใจที่จะทำอย่างนั้น” เขากล่าว (ว่ากันที่จริง นี่คือเมืองที่รถพยาบาลของทางการ 150 คัน พยายามให้บริการแก่คนจำนวน 12 ล้านคน) การไม่คาดหวังมากนักว่ารัฐบาลจะเข้ามาเกี่ยวข้องหมายความว่าราษฎรชุมชนไทรน้อยไม่เพ้อฝันถึงระดับความช่วยเหลือที่จะได้รับจากรัฐบาล และถึงแม้ว่าจะมีความช่วยเหลือจากภายนอกให้ คนเหล่านั้นบอกผม ความช่วยเหลือนั้นก็จะไม่สามารถทดแทนความเชี่ยวชาญที่อยู่ในพื้นที่นั้นซึ่งราษฎรสามารถให้ได้ขณะที่เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวัน “จากประสบการณ์ที่เรามีเกี่ยวกับน้ำท่วม จะเป็นการดีกว่าสำหรับเราที่จะเสนอขอไปยังรัฐบาล แทนที่จะรอให้รัฐบาลมาช่วยเรา” วิเชนทร์กล่าว “ถ้าเราอยากได้อะไร เราจำเป็นต้องสามัคคีกัน และหาทางของเราเอง” ดังนั้น รัฐบาลจึงตระหนักถึงข้อจำกัดของรัฐบาล และพร้อมที่จะให้อำนาจแก่เครือข่ายในท้องถิ่น

ประเด็นสุดท้ายนี้เป็นสิ่งที่สำคัญในการพูดคุยว่าจะให้อำนาจแก่เครือข่ายไม่เป็นทางการแบบนั้นในเมืองของประเทศตะวันตกอย่างไร รัฐบาลประเทศตะวันตกอาจไม่คุ้นเคยกับการยอมให้ราษฎรในท้องถิ่นเป็นคนกำกับการเอง แต่บางทีเมืองในประเทศตะวันตกอาจเต็มใจกว่าที่คาดที่จะยกการควบคุมให้เครือข่ายเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งยามที่วิกฤตประเดประดังเข้ามา หลังจากพายุเฮอริเคนแซนดี้ นิวยอร์กมีภาระสำคัญที่จะต้องทำให้ไฟฟ้าและบริการรถใต้ดินกลับสู่สภาพปกติ ย่าน Red Hook ซึ่งเป็นย่านที่ถูกผลกระทบมากที่สุดย่านหนึ่งในเขตบรู๊คลิน ยังได้รับประโยชน์จากหนึ่งในการตอบสนองอย่างไม่เป็นทางการที่น่าประทับใจที่สุดด้วย องค์กรชุมชนที่ไม่หวังผลกำไรที่แทบจะไม่มีคนรู้จักองค์กรหนึ่งชื่อ Red Hook Initiative เปลี่ยนสภาพไปทันที ในคำพูดของผู้อำนวยการบริหารองค์กร “จากศูนย์พัฒนาเยาวชนเล็กๆ แห่งหนึ่งไปเป็นศูนย์กลางหลักสำหรับความพยายามบรรเทาภัยพิบัติที่นี่”

ด้วยการปฏิบัติงานที่ไม่เป็นทางการเลย แต่กลับมีประสิทธิภาพสูงในทุกๆ ด้าน องค์กรนี้เปลี่ยนจากสำนักงานขนาดเล็กไปเป็นศูนย์ฟื้นฟูชั่วคราวแก่ผู้ประสบภัยจากพายุ โดยแจกจ่ายอาหารร้อนให้แก่ผู้ประสบภัย และเป็นที่ให้คนมาชาร์จโทรศัพท์มือถือ (นี่เป็นเพียงหนึ่งอาคารในไม่กี่แห่งที่ยังคงมีกระแสไฟฟ้าใช้อยู่) และที่สำคัญที่สุด เป็นศูนย์บัญชาการสำหรับความพยายามบรรเทาภัยของย่านนั้นส่วนใหญ่ ในช่วงหลายสัปดาห์หลังจากนั้น บรรดาสื่อต่างก็แปลกใจที่องค์กรเล็กๆ ธรรมดาๆ องค์กรหนึ่งจะสามารถตอบสนองอย่างได้ผลขนาดนี้โดยปราศจากการนำของรัฐบาล

ไม่ต้องแปลกใจนัก แม้ในยามปกติ Red Hook ก็เป็นย่านที่โดดเดี่ยวอย่างผิดปกติอยู่แล้ว ย่านนี้ตั้งอยู่บนผืนดินที่ยื่นออกไปในอ่าว ไม่มีรถไฟใต้ดินไปถึง และราษฎรในย่านนั้นภูมิใจและถือว่าตัวเองอยู่ห่างออกไปจากเมือง ความห่างไกลนั้นดูเหมือนว่าจะทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีบางอย่างที่เหมือนกัน ซึ่งสัมผัสได้ในเวลาต่อมาเมื่อคนในย่านนี้พูดถึงการจัดตั้งการตอบสนองของตัวเองหลังการเกิดพายุแซนดี้ “ผมคิดว่าหลายคนในชุมชน Red Hook รู้สึกตัดขาดทางภูมิศาสตร์และทางจิตใจจากเมือง” ผู้ช่วยคนหนึ่งของคริสตีน ควินน์ ประธานสภากรุงนิวยอร์ก บอกกับ Capital New York โดยเสริมว่าการเผชิญหน้ากับพายุเฮอริเคนแซนดี้ด้วยตัวเอง โดยปราศจากการแทรกแซงจากบนลงล่าง “อาจเป็นสิ่งที่ทำให้คนใน Red Hook รู้สึกมีพลังมากกว่าการได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐบาลกลาง”

เซ็นเซอร์ขนาดเล็กนับพันตัว

ในกรุงเทพฯ วิศิษฐ์ หิรัญกิตติ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งในทางตะวันออกของกรุงเทพฯ อันเป็นที่ตั้งของโรงงานไฮเทคและศูนย์กลางสำคัญของความโดดเด่นทางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ และท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ได้ทุ่มเทความพยายามและเวลาในระยะหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมา เพื่อหาวิธีตอบสนองต่ออุทกภัยครั้งต่อไป ในอดีตลาดกระบังเคยเป็นพื้นที่รับน้ำสำหรับน้ำท่วม และเป็นที่ราบว่างที่ให้ทางการเปลี่ยนทิศทางน้ำเข้ามาในระหว่างช่วงที่มีฝนตกหนัก

เมื่อเกิดน้ำท่วมขึ้น เป็นช่วงที่นักศึกษากำลังสอบกันอยู่ เพราะพื้นที่นี้เคยเป็นพื้นที่รับน้ำมาก่อน วิศิษฐ์จึงคิดว่าสถานการณ์จะเลวร้ายลงอย่างรวดเร็ว “แต่ระดับน้ำหยุดตรงแค่เหนือข้อเท้าของผมเท่านั้นเอง ผมแปลกใจมาก ผมคิดว่ามันจะแย่กว่านี้มากเสียอีก” เขากล่าว เหตุผลก็คือ เพราะเมื่อไม่นานมานี้ลาดกระบังได้รับการพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญเขตหนึ่ง บริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น เช่น ฮอนด้า และอีซูซุ ต่างก็มีโรงงานที่นี่ และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิก็เป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมูลค่า 9 แสนล้านของประเทศ ดังนั้นทางการจึงพยายามอย่างที่สุดที่จะไม่ให้น้ำท่วมพื้นที่นี้

วิศิษฐ์ หิรัญกิตติ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรม ได้ทำการพัฒนาระบบหนึ่งขึ้น เพื่อให้คนที่มีแอพไอโฟนสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลได้ในระหว่างน้ำท่วม

ตลอดระยะเวลาการสอบปลายภาค วิศิษฐ์ยังไปทำงานได้ทุกวัน แต่นักศึกษาของเขาบางคนเดินทางมาจากพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมหนัก และจึงได้ตัดสินใจย้ายเข้ามาอาศัยเป็นการชั่วคราวในห้องปฏิบัติการวิศวกรรมของคณะ ที่นั่นนักเรียนมีที่แห้งให้นอนและสามารถเข้าถึงอาหารและน้ำดื่มที่สะอาดได้ วิศิษฐ์และนักศึกษาของเขาเฝ้าดูสถานการณ์ทั่วกรุงเทพฯ ด้วยความตกใจ “ผมรู้สึกอึดอัดใจมาก ในฐานะวิศวกรคนหนึ่ง ผมอยากทำอะไรบ้าง ไม่ใช่ได้แต่นั่งเฉยๆ และคอยดูเหตุการณ์ทางทีวี ผมได้แต่คิดว่า ‘ผมจะทำอะไรให้ประเทศได้บ้าง’” เมื่อเขาตรวจข้อสอบเสร็จ เขาจึงเกณฑ์นักศึกษาบางคนให้อยู่จนถึงวันหยุดตอนสิ้นปี เพื่อช่วยเขาพัฒนาระบบหนึ่งขึ้นมา ซึ่งเขาหวังว่าจะช่วยประเทศไทยรับมือกับอุทกภัยครั้งต่อไปได้

วิศิษฐ์คิดว่าปัญหาหลักคือการขาดข้อมูล ทางการไม่เคยสามารถบอกได้เลยว่าน้ำอยู่ที่ไหน ดังนั้นจึงไม่สามารถตัดสินใจอย่างมีประสิทธิผลว่าจะจัดการกับน้ำอย่างไร นอกจากนี้ คนไทยซึ่งไม่รู้ข้อมูลที่ควรจะรู้ ก็ไม่ทันได้ตั้งตัวเมื่อน้ำมาถึง “นี่ทำให้ผมคิดว่าในฐานะวิศวกรคนหนึ่ง ผมสามารถให้ข้อมูลได้” เขากล่าว วิศิษฐ์เชี่ยวชาญในการพัฒนาระบบที่สังเคราะห์ข้อมูลที่ซับซ้อน โครงการในอดีตของเรา ได้แก่ ระบบอิเล็กทรอนิกส์จัดส่งแท็กซี่ระบบแรกของประเทศไทย และแผนที่ GIS อย่างละเอียดของโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศไทย วิศิษฐ์ตระหนักว่าหน่วยงานบริหารจัดการน้ำของประเทศ ซึ่งตอนนั้นอาศัยตัวเซ็นเซอร์ที่ล้าสมัยที่ติดตั้งอยู่บนประตูระบายน้ำสิบกว่าประตูที่กระจายอยู่รอบประเทศ จำเป็นต้องมีข้อมูลลักษณะเดียวกันนี้จึงจะตอบสนองได้อย่างมีประสิทธิผล

นี่เห็นจะเป็นการขัดกับสัญชาตญาณโดยกระมัง เพราะตอนแรกเขาตัดสินใจทำงานโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับรัฐบาล เพราะเขาคิดว่ารัฐบาลไร้ความสามารถและมีแต่การทุจริต “ผมไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับรัฐบาล” เขากล่าว ดังนั้น เขาจึงพึ่งพากำลังความเกี่ยวข้องของประชาชน ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีความเด็ดขาดในการตอบสนองต่ออุทกภัยครั้งนั้น วิศิษฐ์และนักศึกษาของเขาตั้งใจที่จะพัฒนาระบบเฝ้าตรวจน้ำท่วมทั่วประเทศ โดยระบบนี้จะอาศัยอาสาสมัครหลายพันคน และสร้างเครือข่ายที่กว้างขวางและทันสมัยทางเทคโนโลยี แต่มีราคาถูก ที่จะให้ข้อมูลล่าสุดแก่ทุกคนที่ต้องการ รวมทั้งหน่วยงานรัฐบาล หลังจากที่ทำระบบต้นแบบขึ้นมา ในที่สุดแล้วเขาจึงตัดสินใจขอเงินจากรัฐบาลเพื่อนำมาใช้เป็นทุนในการพัฒนาต่อไป

บ่ายวันหนึ่งไม่นานมานี้ในห้องปฏิบัติการของเขา ซึ่งอีเหละเขละขละไปด้วยคอมพิวเตอร์ สายเคเบิลที่พันกันยุ่งเหยิง และเศษกระดาษห่ออาหารจานด่วน ซึ่งบ่งบอกให้เห็นถึงการทำงานจนดึกดื่น วิศิษฐ์หยิบระบบที่เขาคิดว่าจะพร้อมนำไปใช้ได้ในปีหน้าออกมาให้ผมดู เทคโนโลยีนี้ง่าย เป็นเพียงท่อพีวีซีที่บรรจุด้วยเชือกหนึ่งเส้นและทุ่นเล็กๆ อันหนึ่ง แผงวงจรหนึ่งอันในการเก็บรวบรวมผลการวัด และอุปกรณ์บลูทูธหนึ่งอันเพื่อส่งข้อมูล

เมื่อเขาได้รับสิทธิบัตรสำหรับระบบนี้แล้ว วิศิษฐ์หวังว่าจะติดตั้งเซ็นเซอร์เหล่านี้กว่า 1,000 ตัวทั่วประเทศ เขาประเมินว่าเซ็นเซอร์แต่ละตัวจะเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 900 บาท ปัจจุบัน เขากำลังประเมินทางเลือกต่างๆ ในการหาเงินทุน ไม่ว่าจะเป็นการขอเงินบริจาคและการอุปถัมภ์จากบริษัทต่างๆ เซ็นเซอร์เหล่านี้จะส่งข้อมูลให้แก่อาสาสมัครหลายพันคนที่ได้ดาวน์โหลดแอพฟรีสำหรับไอโฟน ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยนักศึกษาคนหนึ่งของวิศิษฐ์ จากนั้น เซิร์ฟเวอร์กลางจะเก็บรวบรวมข้อมูลจากโทรศัพท์ต่างๆ และสร้างแผนที่สามมิติแสดงระดับน้ำทั่วประเทศ โดยแผนที่นั้นจะไปปรากฏในเว็บไซต์สาธารณะเว็บหนึ่ง เมื่อติดตั้งและทำงานแล้ว ระบบนี้จะเป็นเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดเกี่ยวกับน้ำท่วมในประเทศไทย “ด้วยภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และภัยธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผมแน่ใจว่าจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ขึ้นอีกอย่างแน่นอน คำถามก็คือ เราจะทำอะไรกับมันได้บ้าง เราอยากเห็นว่าเราจะช่วยกันหาทางออกให้แก่ปัญหานี้ได้หรือไม่”

นับแต่ที่มีสมาร์ทโฟนเกิดขึ้น บรรดานักพัฒนาทั่วโลกต่างก็ออกแอพที่ออกแบบมาเพื่อช่วยคนในยามวิกฤต องค์กรต่างๆ เช่น กาชาดอเมริกัน และ สำนักงานจัดการภาวะฉุกเฉินของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ต่างก็สร้างแอพขึ้นมาสำหรับภาวะฉุกเฉิน ขณะที่ซอฟต์แวร์ที่เอกชนพัฒนาขึ้นมา เช่น BuddyGuard ยอมให้ผู้ใช้ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือโดยใช้ GPS ขณะเดียวกัน รัฐบาลของเมืองในพื้นที่เมือง เช่น แจ็คสันวิลล์ รัฐฟลอริดา และเมืองออคแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ ก็ได้สร้างแอพที่ให้ข้อมูลฉุกเฉินเรียลไทม์แก่ราษฎรในเมือง แต่ระบบของวิศิษฐ์แตกต่างออกไปตรงที่ใช้พลังของผู้ใช้ในการสร้างข้อมูลขึ้นมา

ด้วยความเข้มแข็งของเครือข่ายไม่เป็นทางการในประเทศไทย มีเหตุผลให้วิศิษฐ์เชื่อมั่นได้ว่าระบบของเขาจะใช้ได้ผล เมื่อเปรียบเทียบกับภาระใหญ่ที่อาสาสมัครทำเพื่อช่วยรักษาชุมชนของตัวเองเอาไว้ การติดตั้งแอพไอโฟนเพียงแอพเดียวและการเดินทางไปยังภายในพิสัยของเซ็นเซอร์บลูทูธตัวหนึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่เล็กน้อยมาก แต่การพึ่งพาเครือข่ายไม่เป็นทางการทั้งหมดก็ไม่ใช่ทางออกของปัญหานี้เช่นกัน อาสาสมัครที่ทำงานร่วมกันมีความสามารถที่จะทำสิ่งที่ดีต่างๆ ได้ก็จริง แต่ก็มีข้อจำกัดในแง่ของสิ่งที่ทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทางการและบริการของทางการทำไม่ได้ตามที่คาดหวัง

วิวจากประตูระบายน้ำคลองพระยาสุเรนทร์

ผมรำลึกถึงความจริงข้อนี้ในเช้าวันหนึ่งที่ผมใช้เวลาชมพื้นที่คลองสามวากับนายสมัย เจริญช่าง อดีตข้าราชการคนหนึ่ง เช่นเดียวกับตำบลไทรน้อยทางตะวันตกเฉียงเหนือ คลองสามวาซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯ ถูกน้ำท่วมสูงถึงสองเมตร สมัยขับรถมินิแวนพาผมชมพื้นที่รอบบริเวณนั้น และแนะนำให้ผมรู้จักกับคนสิบกว่าคนที่ได้เข้าร่วมในเครือข่ายบรรเทาอุทกภัย ผมได้พบกับสตรีคนหนึ่งซึ่งพักธุรกิจผลิตรายการโทรทัศน์ที่มีสำนักงานบ้านและทำเงินได้มาก เอาไว้เป็นเวลาสองเดือน เพื่อมาจัดตั้งครัวชั่วคราวในสนามหน้าบ้านของเธอ เมื่อมีอาสาสมัครเต็มพิกัดจำนวน 30 คน เธอปรุงอาหารออกมาแจกจ่ายได้ถึง 3,000 กล่องต่อวัน ผมได้พบกับชายคนหนึ่งในวัยกว่า 70 ปี ซึ่งช่วยนำอาหารเหล่านั้นไปมอบแก่ผู้ประสบอุทกภัย ร่วมกับสมาชิกคนอื่นในศูนย์วิปัสสนาในท้องที่ของเขา ซึ่งศูนย์นี้ได้แปลงไปเป็นเครือข่ายการแจกจ่ายความช่วยเหลือยามฉุกเฉิน ยังมีคนอีกหลายคนและทุกคนต่างก็พูดว่าแม้ว่าตอนนี้เครือข่ายของตัวเองจะไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ก็ตาม เพราะไม่มีอุทกภัยให้ต้องตอบสนอง แต่เครือข่ายเหล่านั้นก็สามารถเกิดขึ้นมาอีกได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มีอีกด้านที่ไม่ดีของเครือข่ายลักษณะนี้ เราหยุดที่ประตูระบายน้ำแห่งหนึ่งที่ควบคุมน้ำในคลองพระยาสุเรนทร์ ซึ่งเป็นคลองที่ไหลจากเหนือลงใต้ผ่านคลองสามวา เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนซึ่งเป็นช่วงที่น้ำท่วมในระดับสูงสุด ประตูดังกล่าวแบ่งพื้นที่นั้นออกเป็นสองโลกที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง พื้นที่ทางด้านเหนือของประตูระบายน้ำแห่งนั้นถูกน้ำท่วมหนัก ขณะที่ทางด้านใต้แห้งสนิท กรุงเทพฯ ซึ่งควบคุมประตูระบายน้ำดังกล่าว ได้ตัดสินใจกั้นน้ำไม่ให้ไหลลงใต้สู่ใจกลางกรุงเทพฯ ทำให้น้ำท่วมขังอยู่ทางด้านเหนือของประตูระบายน้ำ ราษฎรทางด้านเหนือของประตูน้ำรู้สึกโกรธแค้นอย่างมาก จึงได้รวมตัวกันต่อสู้และพยายามยึดประตูระบายน้ำนั้น ราษฎรทางใต้ของประตูระบายน้ำแห่งนั้นก็ตอบสนองเช่นเดียวกัน และทั้งสองฝ่ายต่างก็ใช้กำลังต่อสู้กันเป็นเวลาสองสัปดาห์ ทั้งสองฝ่ายต่างก็มีอาวุธและได้ยิงใส่กันและสู้กันด้วยมือเปล่าก่อนที่ตำรวจจะมาถึงและทำให้สถานการณ์กลับสู่ความเป็นระเบียบเรียบร้อยดังเดิม (ไม่มีผู้เสียชีวิต แต่มีหลายคนได้รับบาดเจ็บ) “ท้ายที่สุดแล้ว ทั้งสองฝ่ายก็อยากให้อีกฝ่ายต้องทนทุกข์ทรมาน” สมัยกล่าว

สุพรในห้องนั่งเล่นของเธอที่มีรูปรัชกาลที่ห้าแขวนอยู่บนผนัง บนรูปนั้นยังเห็นรอยน้ำจากน้ำท่วมได้อย่างชัดเจน

แม้จะเกิดความขัดแย้งเหล่านี้ขึ้น แต่คนไทยก็ยังเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเองที่จะตอบสนองต่อวิกฤตอย่างไม่เป็นทางการ สุพร รุจาพรรณ สตรีคนหนึ่งที่ลูกโตหมดแล้ว และอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ ไม่ยอมอพยพออกจากบ้านของเธอตลอดระยะเวลาที่เกิดน้ำท่วมครั้งนั้น หลังจากที่ตอนแรกพบว่าตัวเองเป็นผู้ประสบภัย ต่อมาเธอได้เปลี่ยนบทบาทไปเป็นผู้นำแนวหน้าของความพยายามบรรรเทาทุกข์ในชุมชนของเธอ โดยคอยกำกับความช่วยเหลือของรัฐบาลและอาสาสมัคร และกลายเป็นคนดังย่อมๆ ไปพร้อมกันนั้น ในระหว่างที่เราคุยกันในครัวของบ้านคอนกรีตหลังเล็กของเธอที่เป็นร้านค้าไปด้วยในตัว เธอสะท้อนให้ผมเห็นถึงความคิดของคนไทยหลายคนที่ผมได้คุยด้วย “ในช่วงที่เกิดน้ำท่วม เราพบว่าเป็นการดีกว่าที่จะช่วยตัวเองแทนที่จะพึ่งรัฐบาล” เธอกล่าว แม้ว่าเธอจะห่วงว่าสำนึกของความรับผิดชอบร่วมกันที่เธอรู้สึกอย่างลึกซึ้งในขณะนี้จะไม่เหลืออยู่ในคนรุ่นลูกของเธอ แต่สุพรก็เชื่อว่าประเทศไทยจะยังพึ่งพาวิธีที่ไม่เป็นทางการต่อไปในการตอบสนองต่อภาวะวิกฤตในอนาคต “เราเป็นคนไทย” เธอกล่าวอย่างง่ายๆ “เป็นปกติวิสัยที่เราจะช่วยเหลือกันและกัน”

เรื่องราวเกี่ยวกับเรือลำหนึ่ง

“เราต้องช่วย! เราต้องช่วย!” เชฐศฤษฎ์ สมิทนุกูลกิจ พูด ดวงตาของเขาเบิกกว้างภายใต้ผมหน้าม้าสีเทาที่ขยับไปมาบนหน้าผากของเขา เชฐศฤษฎ์กำลังยืนอยู่ในสำนักงาน VS Service บริษัทผลิตสื่อแห่งหนึ่งที่ช่วยกองถ่ายภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดในการถ่ายทำในประเทศไทย เขาเล่าถึงช่วงขณะที่เขารู้ว่าเขาจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้น ที่จริงแล้วเขาไม่จำเป็นต้องทำอะไรเลย เพราะพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมหนักที่สุดนั้นอยู่ห่างออกไปทางเหนือหลายสิบกิโลเมตร แต่เขามีเหตุผลง่ายๆ คือ “เรามีเรือ เรามีกำลังคน เรามีทุกอย่างที่จะใช้ในการช่วยเหลือคนอื่นได้”

เรือลำนั้น ขณะที่สิ่งที่เกิดขึ้นที่ตำบลไทรน้อยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชนเล็กๆ แห่งหนึ่งที่ช่วยเหลือตัวเองเมื่อไม่มีคนอื่นยื่นมือเข้ามาช่วยได้ อันเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นนับพันครั้งทั่วกรุงเทพฯ ในขณะนั้น แต่เรื่องราวของเชฐศฤษฎ์นั้นแตกต่างออกไปตรงที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความคิดริเริ่มของชายคนหนึ่งที่ระดมเงินและกำลังของทั้งตัวเขาเองและเครือข่ายอาสาสมัครขนาดใหญ่และของรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือคนประมาณ 2,500 คน แต่ที่สำคัญที่สุดคือ นี่คือเรื่องราวเกี่ยวกับเรือลำหนึ่ง

เชฐศฤษฎ์และพรรคพวกของเขากับเรือลำที่นำเขาไปช่วยราษฎรในจังหวัดหนึ่งทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ

“ผมซื้อเรือลำนี้เมื่อห้าหรือหกปีก่อนจากกองถ่ายหนังที่เราทำงานด้วย กองถ่ายนั้นใช้เรือลำนี้ในการถ่ายฉากต่างๆ ในหนังเรื่อง แรมโบ้ 4” เชฐศฤษฎ์เล่า “ผมซื้อมาเพราะคิดว่าคงจะมีโอกาสใช้มันได้อีก เรือลำนั้นไม่มีเครื่องยนต์ ดังนั้นเราจึงต้องใช้ลำไม้ไผ่ยันให้ล่องไป” เรือลำนี้เป็นเรือท้องแบนขนาดใหญ่และจุคนได้เกือบ 50 คน และของได้หลายร้อยกิโลกรัม ขณะที่มวลน้ำหลากเข้ามาในกรุงเทพฯ วันหนึ่งเขาได้รับโทรศัพท์จากผู้ว่าราชการจังหวัดอยุธยา จังหวัดทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ “ท่านผู้ว่าฯ ขอให้เราช่วย ท่านบอกว่าราษฎรในจังหวัดอยุธยาไม่มีอาหาร ไม่มีน้ำดื่ม และกำลังอยู่ในอันตราย เขาบอกสถานที่ที่ต้องการให้ผมไป” เชฐศฤษฎ์เล่า

เชฐศฤษฎ์เกณฑ์กำลังพนักงานหนุ่มสาวในบริษัทของเขาและอาสาสมัครที่เป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยใกล้ๆ แต่ถ้าต้องใช้ไม้ไผ่ยันเรือลำนั้นขึ้นไปยังจังหวัดอยุธยา จะต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงหรือแม้กระทั่งหลายวันทีเดียว ดังนั้น เขาจึงโทรศัพท์หาเพื่อนนายตำรวจยศสูงคนหนึ่ง คือ พล.ต.ต. อดิศร์ งามจิตสุขศรี “เขาบอกผมว่าเขาต้องการเครื่องยนต์สำหรับเรือของเขา วันถัดไปผมจึงได้จัดส่งไปให้โดยใช้เครื่องบินทะเล” พล.ต.ต. อดิศร์ เล่า

ในช่วงสองเดือนต่อไป เชฐศฤษฎ์และพรรคพวกอาสาสมัครของเขาเดินทางด้วยเรือลำนั้นไปทั่วจังหวัดอยุธยาที่ถูกน้ำท่วมอย่างหนัก เรือของเขาใช้ประโยชน์ได้สารพัด ตั้งแต่เป็นโรงพยาบาลลอยน้ำ เรือค้นหาและกู้ภัย สถานีจ่ายไฟฟ้าเคลื่อนที่ และเรือจัดส่งถุงยังชีพ พวกเขาไปยังสถานที่ที่ทางการเข้าไปไม่ถึง โดยการประสานงานกับคนในท้องที่ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล เครือข่ายอาสาสมัคร และราษฎรที่ติดอยู่ในบ้าน และนำเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหนึ่งเครื่องไปด้วย นี่ทำให้บรรดาคนที่ติดอยู่ในบ้านสามารถชาร์จแบตโทรศัพท์มือถือและติดต่อกับโลกภายนอกได้ พวกเขาพาแพทย์ไปรักษาคนที่บาดเจ็บ เรือลำนี้ยังกลายเป็นสถานที่เก็บศพ โดยนำศพคนที่เสียชีวิตหลายศพออกมาด้วย

หลายครั้งที่เกือบจะมีเหตุการณ์หวุดหวิเกิดขึ้นกับพวกเขา รวมทั้งเมื่อเชฐศฤษฎ์เกือบตายจากการถูกไฟดูด เพราะสายไฟที่จมอยู่ใต้น้ำ นอกจากนี้พวกเขายังเกิดความกลัวจระเข้ที่หลุดออกมาจากฟาร์มจระเข้เถื่อนในช่วงเกิดน้ำท่วมด้วย เมื่อคิดย้อนกลับไป ความกลัวนั้นอาจไม่มีเหตุมีผลสักเท่าไหร่ “เราได้ยินข่าวลือเรื่องจระเข้หลุดออกมาจากฟาร์ม เราคิดว่าข่าวลือนั้นอาจเป็นความจริง” เขาเล่าพร้อมหัวเราะอย่างอายๆ แต่อันตรายนั้นไม่สำคัญสักเท่าไหร่เมื่อพบกับคำขอบคุณอย่างท่วมท้นที่พวกเขาได้รับจากคนที่พวกเขาเข้าไปช่วย “เมื่อเราเข้าไปในพื้นที่แห่งหนึ่ง ทุกคนยืนขึ้นและปรบมือให้เรา” เขาเล่าขณะเอามือถูหน้าผาก และรำลึกถึงความรู้สึกปลื้มใจจนขนลุก

ผู้หญิงคนหนึ่งกำลังให้อาหารปลาดุกที่วัดซึ่งอยู่ติดกับประตูระบายน้ำคลองพระยาสุเรนทร์

ผมถามเชฐศฤษฎ์ว่าเขาได้บทเรียนอะไรบ้างจากอุทกภัยครั้งนั้น เชฐศฤษฎ์เอียงหน้าเข้ามาหาผมและพูดเสียงเบาลงจนเกือบเป็นการกระซิบ “ผมต้องขอพูดอะไรที่ไม่ดีเกี่ยวกับการเมืองในประเทศไทยหน่อย” สองพรรคการเมืองในประเทศไทยซึ่งขัดแย้งกันมาโดยตลอด ไม่พร้อมที่จะรับมือกับภาวะวิกฤตนั้น “ทั้งสองพรรคคิดถึงแต่ตัวเอง ไม่ได้คิดถึงประชาชนชาวไทยเลย” เขากล่าว “นอกจากนั้นแล้ว เรายังทำงานอย่างมีประสิทธิภาพกว่าเป็นสิบเท่า ตำรวจไม่มีวิธีที่จะช่วยประชาชนได้ เพราะฉะนั้นตำรวจจึงต้องการผม” ข้อสุดท้ายนี้ พล.ต.ต. อดิศร์ เห็นด้วย “เราพร้อมเสมอที่จะออกไปช่วยเหลือประชาชน ตอนนั้นเรารู้ว่าเราทำตามลำพังไม่ได้” พล.ต.ต. อดิศร์ กล่าว เมื่อเกิดน้ำท่วมครั้งต่อไป พล.ต.ต. อดิศร์ จะโทรศัพท์หาเชฐศฤษฎ์เพื่อนของเขา ชายคนที่มีเรือท้องแบนลำนั้น “เครื่องยนต์ยังใช้การได้อยู่ ผมเพิ่งตรวจมันเมื่อสองวันก่อนนี้เอง” เชฐศฤษฎ์กล่าว “เราพร้อมแล้วครับ”

นี่เป็นบทความแรกในหกบทความยาวสำหรับ Informal City Dialogues โครงการต่อเนื่องที่มีขึ้นเพื่อส่งเสริมการพูดคุยเกี่ยวกับการสร้างเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมและที่ฟื้นตัวหลังภาวะวิกฤตได้ดีขึ้น อ่านรายงานประจำสัปดาห์จากเมืองของเรา ชมภาพยนตร์สั้นๆ และข้องเกี่ยวกับคนอื่นๆ ได้ที่ nextcity.org/informalcity

Our features are made possible with generous support from The Ford Foundation.

Like what you’re reading? Get a browser notification whenever we post a new story. You’re signed-up for browser notifications of new stories. No longer want to be notified? Unsubscribe.

Dustin Roasa is a journalist based in Cambodia. His writing has appeared in the Los Angeles Times, the Guardian, Foreign Policy and Dissent, among others.

Giorgio Taraschi is a 26-year-old Italian photographer currently based in Bangkok. His work has appeared in the Guardian, Internazionale, Courrier International and GEO, among others.

×
Next City App Never Miss A StoryDownload our app ×
×

You've reached your monthly limit of three free stories.

This is not a paywall. Become a free or sustaining member to continue reading.

  • Read unlimited stories each month
  • Our email newsletter
  • Webinars and ebooks in one click
  • Our Solutions of the Year magazine
  • Support solutions journalism and preserve access to all readers who work to liberate cities

Join 1096 other sustainers such as:

  • Gabby at $5/Month
  • Abigail at $10/Month
  • Gloria at $5/Month

Already a member? Log in here. U.S. donations are tax-deductible minus the value of thank-you gifts. Questions? Learn more about our membership options.

or pay by credit card:

All members are automatically signed-up to our email newsletter. You can unsubscribe with one-click at any time.

  • Donate $20 or $5/Month

    20th Anniversary Solutions of the Year magazine

has donated ! Thank you 🎉
Donate
×